10/20/2011

ขับรถขณะน้ำท่วมควรทำอย่างไร?


ขับรถขณะน้ำท่วมควรทำอย่างไร?
    
1.ห้ามเปิดแอร์เด็ดขาด เพราะเมื่อเราเปิดแอร์ พัดลมจะทำงาน ทำให้ใบพัดพัดน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง แล้วทำให้เครื่องดับ
    
2.ใช้เกียร์ต่ำ สำหรับเกียร์ธรรมดา เราควรใช้ประมาณเกียร์ 2 แต่หากว่าเป็นเกียร์ออโต้ สามารถใช้เกียร์ L ได้ รวมถึงการขับขี่ที่มีความเร็วต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรใช้ความเร็วอย่างสม่ำเสมอ อย่าหยุด หรืออย่าเร่งความเร็วขึ้น
   
 3.ไม่ควรเร่งเครื่องให้รอบสูงเกินไป ผู้ขับรถหลายคนมักเร่งเครื่องแรงๆเพราะกลัวเครื่องดับ เนื่องจากน้ำเข้าท่อไอเสีย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเร่งเครื่องขึ้น ยิ่งจะทำให้รถมีความร้อนสูงยิ่งขึ้น ใบพัดระบายความร้อนก็จะทำงาน  และยิ่งทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์มากยิ่งขึ้น การสตาร์ตรถอยู่โดยที่รอบเดินเบา แม้ว่าจะแช่อยู่ในน้ำ (แต่ระดับน้ำต้องไม่สูงมากขนาดระดับกะโปรงรถ) แรงดันที่ออกมาเพียงพอที่จะดันน้ำออกมาได้

4.การลดความเร็วลง โดยเฉพาะในกรณีที่เมื่อกำลังจะขับรถสวนกับรถอีกคันหนึ่ง เพราะยิ่งขับเร็วมากเท่าไหร่ แรงคลื่นที่เกิดจากการปะทะก็จะแรงมากเท่านั้น และกระเด็นเข้าสู่เครื่องยนต์ได้ง่ายขึ้น

5.หลังจากลุยน้ำที่มีระดับลึกมา สิ่งแรกที่ควรทำคือ พยายามย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำ เพราะในช่วงแรกๆจะเบรกไม่อยู่และเป็นอันตรายมาก

 
ขั้นตอนที่ควรทำทันที เมื่อรถยนต์ถูกน้ำท่วม

1.ล้างรถ รวมถึงการฉีดน้ำเข้าไปในบริเวณใต้ท้องรถและซุ้มล้อ เพื่อล้างเศษดินทรายที่ตกค้างหรือติดอยู่ออกให้หมด ซึ่งอาจมีเศษขยะหรือหญ้าแห้งติดอยู่ ที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย เช่นเดียวกับกรณีของรถที่ติดตั้งตัวกรองไอเสีย หรือ CAT ที่ไม่แนะนำให้จอดในที่ที่มีหญ้าขึ้นสูง เนื่องจากอุณหภูมิของ Catalytic Converter ค่อนข้างสูง และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย

2.พึงเอาไว้ว่าอย่าทำการสตาร์ทรถ หรือบิดกุญแจให้ไฟออนโดยเด็ดขาด จากนั้นเดินไปเปิดฝากระโปรงรถและปลดขั้วแบตเตอรี่ทันที โดยจะปลดขั้วใดขั้วหนึ่งหรือจะปลดทั้ง ขั้วบวกขั้วลบก็ได้ (จริงๆถ้าคุณคาดว่าน้ำจะท่วมสูงถึงห้องเครื่องให้เตรียมปลดขั้วแบตเตอรี่ เอาไว้ล่วงหน้าก่อนจะเป็นการดีที่สุด) เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเข้าไปเลี้ยงระบบต่างๆของรถ รวมถึงเครื่องยนต์

3.เปิดประตูออกทุกบาน ให้ลมโกรก หรือถ้ามีแดดให้จอดตากแดด จากนั้นถอดเบาะนั่ง พรม ผ้าต่างๆ ที่อยู่ภายในรถออกมาซักทันที เพราะถ้าทิ้งเอาไว้นาน ความเหม็นอับจะมาเยือน และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ

4.เริ่มเข้าสู่กระบวนการทางเทคนิคที่พอจะทำได้เอง คือ ปลดทุกอย่างที่เป็นขั้วไฟฟ้า ในกรณีที่เป็นเครื่องเบนซินให้ใช้ลมเป่าไปที่เบ้าหัวเทียนไล่น้ำออกให้หมดทุกซอกทุกมุม จากนั้นให้ถอดหัวเทียนออก ตรวจดูแผงฟิวส์ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่างๆรวมทั้งกล่องอีซียูต้องถอดออกให้หมดตากแดดทิ้งไว้ ตรวจดูปลั๊กไฟใช้ลมเป่าทำความสะอาดทั้งหมด หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดทิ้งไว้

5.สำรวจน้ำมันเกียร์ ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ คือถ้ามีลักษณะคล้ายสีชาเย็น นั่นแสดงว่ามีน้ำเข้าไปปะปนแล้ว ต้องรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทันที เช่นเดียวกับน้ำมันเกียร์ รวมถึงเปลี่ยนกรองอากาศ ซึ่งประเด็นนี้ใครทำเองได้ก็ทำเลย เพราะยิ่งจัดการเร็วโอกาสที่สนิมจะมาเยือนก็น้อยตามไปด้วย แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องเข้าศูนย์บริการหรืออู่ ซึ่งจะมีขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายที่ถูกต้องและละเอียดมาก

6.เพลาขับ หากยางหุ้มเพลาขาดน้ำจะเข้าไปนำเอาจารบีออกไป ต้องอัด จารบีใหม่และเปลี่ยนยางหุ้มเพลาด้วย อีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือลูกปืนล้อทั้งหน้าและหลังที่มีอยู่ในรถทั่วไป ต้องนำออกมาล้างอัดจารบีใหม่แล้วใส่กลับคืนที่ด้วยการปรับใหม่ให้แน่นตามลำดับไม่แน่นเกินไปจนล้อหมุนฝืด

7.ในกรณีที่เป็นเครื่องเบนซินให้ใช้ลมเป่าไปที่เบ้าหัวเทียนไล่น้ำออกให้หมดทุกซอกทุกมุม จากนั้นให้ถอดหัวเทียนออก ตรวจดูแผงฟิวส์ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่างๆรวมทั้งกล่องอีซียูต้องถอดออกให้หมดตากแดดทิ้งไว้ ตรวจดูปลั๊กไฟใช้ลมเป่าทำความสะอาดทั้งหมด หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดทิ้งไว้

8.โคมไฟหน้าเลนส์ ไฟท้าย เบาะนั่ง พรมปูพื้น ที่ถอดออกมาตากแดดแห้งแล้วยังไม่ต้องรีบใส่ แม้ว่าส่วนประกอบอื่นๆจะแห้งดีแล้ว ให้เอารถออกตากแดดเปิดประตูรถทุกบาน พยายามให้แผงหน้าปัดรถตากแดดแรงๆเพื่อไล่ความชื้นออกจากแผงหน้าปัดให้หมด

9.เมื่อแน่ใจว่าทุกอย่างแห้งสนิทดีแล้วค่อยใส่ทุกอย่างที่ถอดออกจากในห้องเครื่องเข้าที่ให้หมด ยกเว้นหัวเทียนในกรณีของรถเครื่องยนต์เบนซินหรือหัวฉีดในกรณีเครื่องดีเซล ให้ยกแบตเตอรี่เข้าที่ก่อนโดยใส่ขั้วแบตเตอรี่ เสียบกุญแจบิดกุญแจไปจังหวะแรก(จังหวะสำหรับตรวจมาตรวัดต่างๆก่อนสตาร์ทรถ) หากเกจ์วัดไหนยังไม่ทำงานอย่าเพิ่งกังวล ให้เปิดสวิตช์ค้างไว้แล้วลงมาตรวจสอบที่ห้องเครื่องยนต์ว่ามีควันหรือความร้อนอะไรเกิดขึ้นจากการใช้ไฟจากแบตเตอรี่หรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีทุกอย่างปกติดีจึงค่อยบิดกุญแจปิดสวิตช์

10.ตรวจสอบเบ้าหัวเทียนอีกครั้งว่ามีอะไรติดขัดหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ หากดูแล้วว่าเรียบร้อยดีให้ลองสตาร์ทเครื่องใหม่ โดยคนหนึ่งบิดกุญแจส่วนอีกคนหนึ่งคอยเช็คที่รูหัวเทียน เมื่อเครื่องหมุน หากถ้ามีน้ำ น้ำจะถูกพ่นออกมาทางรูหัวเทียน ให้สตาร์ทต่อไปจนแน่ใจว่าน้ำถูกพ่นออกมาจนหมด ต่อไปก็ให้ใส่หัวเทียนเข้าที่ หากทำมาถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์อื่นที่เสียหายรุนแรง เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ หากว่าได้ยินเสียงเครื่องยนต์ทำงานดังกระหึ่มขึ้นตามมา แสดงว่าทุกอย่างเป็นปกติ

วิธีการยกรถหนีน้ำ ด้วยการนำแม่แรงที่อยู่ภายในรถงัดรถให้สูงขึ้น จากนั้นให้นำก้อนอิฐไปค้ำล้อรถทั้ง 4 ล้อให้สูงเหนือระดับน้ำ ส่วนกรณีที่รถอาจต้องจมน้ำ ข้อแนะนำคือควรปิดกระจกให้แน่น หลังจากนั้นให้ถอดขั้วแบตเตอรี่ ขั้วบวกหรือขั้วลบออก เพื่อป้องกันระบบไฟฟ้าภายในรถช็อต

ภายหลังน้ำท่วมรถ ให้แกะลูกยางที่อยู่ใต้ท้องรถออก เพื่อเป็นการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในรถ



เมื่อรถยนต์ถูกน้ำท่วมทั้งคันควรทำอย่างไร?

1.ห้ามเปิดสวิตช์ไฟหรือสตาร์ตเครื่องเด็ดขาด และถอดสายแบตเตอรีออก
2.ลากรถยนต์ออกจากน้ำให้เร็วที่สุด เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานจะก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณตัวรถเพิ่มขึ้นเมื่อรถจมน้ำทั้งคัน หลายคนเข้าใจว่าไฟฟ้าจะลัดวงจร แต่ในความเป็นจริงไฟฟ้ายังไม่ได้ลัดวงจรเพราะว่าไม่มีไฟฟ้าลงดิน แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นหลังจากที่ระบบอิเลคทรอนิกส์ต้องจมอยู่ในน้ำ และจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อมอเตอร์ไฟฟ้า กล่องอีซียูซึ่งปัจจุบันใช้ระบบกล่องรวมที่ควบคุมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแอร์ ไฟส่องสว่างและเครื่องยนต์


หลังจากกู้รถขึ้นจากน้ำแล้ว ข้อห้ามอย่างแรกที่สำคัญคือห้ามติดเครื่องยนต์เด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบจนแน่ใจว่าไม่มีน้ำค้างในเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง รถที่ถูกน้ำท่วมต้องเปลี่ยนถ่ายของเหลวและกรองต่างๆออก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีฝุ่นหรือดินโคลนค้างอยู่ การซ่อมบำรุงรถน้ำท่วมจะต้องทำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญรถยี่ห้อนั้นจริงๆ เพราะแทบจะต้องประกอบใหม่ทั้งคันทีเดียว







No comments:

Post a Comment